ตุลาคม 14, 2023

มะม่วง…กับ กามเทพ

มะม่วง…กับ กามเทพ

เมื่อหลายสิบปีก่อนในสวนเคยมีปลูกมะม่วงฟ้าลั่นเอาไว้กว่า 40 ต้น เพราะตอนที่ซื้อที่ดินแปลงนี้มาใหม่ๆ นั้นเป็นที่ค่อนข้างจะโล่ง มีมะพร้าวเป็นหลัก แต่ว่าที่ดินกว่าครึ่งก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรนอกจากเลี้ยงสัตว์ พ่อของผู้เขียนก็เลยเอามะม่วงมาลงไว้เต็มไปหมด สมัยนั้นมะม่วงฟ้าลั่นเป็นของแปลกสำหรับผู้เขียนตอนเด็กๆ เพราะไม่เคยเห็นมะม่วงที่ปลอกแล้วแตกลั่นเหมือนเมล็ดเปาะแปะมาก่อนเลย จำได้ว่าพ่อเคยพาไปเดินดูต้นมะม่วงในงานแฟร๋ในโรงเรียนสละชีพแล้วก็เอามะม่วงฟ้าลั่นมาปลูก ตอนแรกนั้นลงไปหลายร้อยต้นแต่ว่าเหลือรอดแค่สี่สิบต้น ที่ให้ผลผลิตได้ แต่ว่าฟ้าลั่นก็เป็นมะม่วงที่ราคาไม่ดี คงเพราะถ้าไม่แก่จัดรสชาติค่อนข้างจะจืด บางปีก็ถูกกว่ามะม่วงแก้วเสียอีก หลังๆ ก็เลยหันไปนิยมปลูกมะม่วงอื่นแทน อย่างน้ำดอกไม้ มหาชนก ส่วนมะม่วงฟ้าลั่นที่ปลูกนั้น ตอนหลังผู้เขียนทำไฟไหม้จนแปลงมะม่วงฟ้าลั่นเดิมตายไปหมด ในสวนปัจจุบันจึงมีมะม่วงฟ้าลั่นแค่ 2 ต้น เป็นต้นที่ปลูกใหม่หลังเกิดไฟไหม้ด้วย

เชื่อกันว่ามะม่วงเป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียใต้ตั้งแต่อินเดียมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในอินเดียทางตอนเหนือนั้นเรียกมะม่วงว่า อัมรา พัล (Amra phal) ทำให้นึกเหมือนกันนะว่า คำว่า “อำพัน” ในภาษาไทย บางที เดิมทีอาจจะหมายถึงมะม่วง ไม่ใช่อัญมณีสีเหลืองก็ได้

ในขณะที่รัฐทางใต้ของอินเดีย อย่างในรัฐทมิฬ เรียกว่า อัม เคย์ (Aam Kay) หรือ มะอัมเคย์ (Maamkay)

ส่วนคำว่า  “Mango” นั้นเป็นคำจากภาษาโปตุเกส ซึ่งชาวโปตุเกสก็ยืมมาจากภาษามาเลย์ Mangga เมื่อครั้งที่เข้ามาในรัฐเกรละ (Kerala) เพื่อค้าเครื่องเทศเมื่อ ค.ศ. 1498 แต่ว่าคำภาษามาเลย์ก็เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาทมิฬ மாங்காய் (mangay) อีกทีหนึ่ง

ในพุทธประวัติมีการเล่าว่านางอัมพะปาลี (Ambapali) ได้ถวายสวนมะม่วงให้แก่พระพุทธเจ้า และเหมือนกับว่ามะม่วงก็จะแพร่กระจายไปทั่วพร้อมกับการเผยแพร่พุทธศาสนา อย่าง พระถังซัมจั๊ง (Xuanzang) ในศตวรรษที่ 7 เมื่อเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาในอินเดีย ก็ได้นำกิ่งมะม่วงจากอินเดียกลับไปยังจีนด้วย

ในปี 1328 บิชอฟโจดานัส แห่งโคลัมบัม  (Jodanus Cutulus, Bishop of Columbum)

ในศตวรรษที่ 15 นิโคโล่ เดอ คอนติ (Nicolo de Conti) บันทึกถึงมะม่วงโดยเรียกว่ามะม่วงว่า อัมราม (Amram) ซึ่งเป็นคำจากภาษาสันสฤต

พอถึงศตวรรษที่ 16 จักรพรรดิอักบาร์ (Mughal Emperor Akbar, 1542-1605) แห่งจักรวรรดิโมกุล (Moghal) ได้สั่งให้มีการปลูกมะม่วแปลงใหญ่กว่า 100,000 ต้นในพิหาร, อินเดีย ซึ่งสวนมะม่วงแห่งนี้เรียกว่า ลักคี บากห์ (Lakhi Bagh, แปลว่า สวนของพระลักษมี)

ในปี 1656 มิเชล โบยัม (Michel Boym) นักบวชเยซูอิต ชาวโปตุเกส ได้พิมพ์หนังสือ Flora Sinensis (Chinese Flora) ออกมา ซึ่งมีการวาดภาพพืชพันธุ์หลายอย่างที่เขาพบ ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศจีน ซึ่งใน Flora Sinensis นั้นมีทั้ง กล้วย, ทุเรียน และแน่นอนมะม่วง ด้วย

ราวปี 1700 มะม่วงถูกนำไปปลูกในบราซิล และต่อมาเฮนรี่ เฟอร์รีน (Henry Perrine) เป็นคนนำมะม่วงไปปลูกในแคลิฟอร์เนีย 1833

ในอินเดียนั้นถือว่า มะม่วง เป็นราชาแห่งผลไม้ และเป็นผลไม้ประจำชาติ ทุกวันที่ 22 กรกฏาคม ของทุกปีจึงเป็นมะม่วง โดยเริ่มประกาศวันมะม่วงแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 1987

อินเดียถือว่ามะม่วงเป็นต้นไม้แห่งชีวิต (Kalpavriksha , Tree of Life) โดยตำนานมากมายเล่าเกี่ยวกับมะม่วงเอาไว้มากมาย เช่น ลูกศรของ กามเทพ (Kamadeva) เทพแห่งความรัก ซึ่งกามเทพนั้นมีลูกศรอยู่ 5 ดอก ลูกศรแต่ละดอกนั้นจะติดดอกไม้ที่แตกต่างกัน 5 ชนิด ได้แก่ ดอกบัวขาว, ดอกอโศก, ดอกมะม่วง, ดอกมะลิ , ดอกบัวสีฟ้า ซึ่งลูกศรแต่ละชนิดก็มีอิทธิฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยลูกศรที่ติดด้วยดอกมะม่วงนั้น มีชื่อเรียกว่า ดราวินี (Dravini) ซึ่งมีฤทธิ์ ทำให้เกิดความหลงไหลและภาพลวงตา   ในขณะที่วันหนึ่งกามเทพเห็นพระศิวะ (Lord Shiva) นั่งทำสมาธิอยู่ใต้ต้นมะม่วง กามเทพก็ใช้ลูกศรดอกมะม่วง เล็งไปที่พระศิวะ แต่ว่าพระศิวะรู้ตัว พระองค์จึงเปิดดวงตาที่สามขึ้นมาเพื่อเผากามเทพจนเสียชีวิต ก่อนที่นางราตรี (Rati) ภรรยาของกามเทพได้ทูลขออภัยโทษจากพระศิวะ ซึ่งเมื่องพระศิวะทรงให้อภัยโทษ กามเทพก็ได้เป็นเกิดใหม่เป็น Pradyumna ลูกชายของพระกฤษณะ (Krishna) กับนาง รักมินี (Rukmini) และได้แต่งงานกับนางมายาวาตี (Mayavati) ซึ่งเป็นนางราตรี ที่กลับชาติมาเกิด... 🥭

Yandex.Metrica