มีนาคม 8, 2024

นารัง ... เมือง 4 อ่าว

นารัง ... เมือง  4 อ่าว

ปี 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รวมเอาเมืองนารัง เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬเช้าด้วยกัน พระราชทานนามว่า “เมืองประจวบคีรีชันธ์” คู่กับ ”เมืองประจันตคีรีเขต” ที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา

ตำแหน่งเจ้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในเวลานั้น พระราชทานนามว่า พระพิไชยชลสินธุ์ ซึ่งหากเปิดดูเว็บไซด์ของจังหวัดจะพบว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัด 3 คนแรก ที่ใช้ตำแหน่งว่า พระพิชัยชลสินธ์ คือ 1.พระพิชัยชลสินธ์ (จันทร์ ไชยมงคล) 2.พระพิชัยชลสินธ์ (สิงห์ ไชยมงคล) 3. พระพิชัยชลสินธ์ (พุธ ไชยมงคล)  แต่ว่าก็ไม่มีข้อมูลระบุว่าดำรงตำแหน่งในปีใด

แต่ว่า ผู้เขียนบังเอิญอ่านเจอในหนังสือ เงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพของ นางสัตยาภรพิมล (ทิพย์ มหานนท์) ในปี 2496 ในหนังสือเล่มนี้เขียนประวัติของคุณแม่ทิพย์ มหานนท์ เอาไว้ว่า คุณแม่ทิพย์สมรสกับท่านขุนทรัพย์โวหาร (พริ้ม มหานนท์) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระพิไชยชลสินธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ

ข้อมูลตรงนี้จึงไม่ตรงกัน ว่าใครที่เป็น พระพิไชยชลสินธุ์ กันบาง ดังนั้นฝากผู้สนใจหรือราชการ ควรช่วยกันสืบค้นข้อมูลเพื่อความถูกต้องกันต่อไป (อนึ่ง พิไชยชลสินธุ์ กับ พิชัยชลสินธุ์ สะกดตามเอกสารที่อ้างถึง)


พูดถึงชื่อเมืองนารัง ซึ่งเป็นชื่อเมืองประจวบคีรีขันธ์เดิมแล้ว ก็มีเรื่องให้เล่าอีกเพราะคนที่มาเที่ยวประจวบฯ​ พอขับรถเข้าเมืองประจวบฯ ก็จะมองเห็นป้ายขนาดใหญ่บนภูเขาช่องกระจก ที่เขียนว่า “เมืองสามอ่าว” ไอเดียแบบป้าย “Hollywood” ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ อเมริกา

แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ที่มาที่ไปของคำว่า “ฮอลลี่วู๊ด” ว่าจริงๆ แล้ว ฮอลลี่ (Holly tree) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ไม่เคยขึ้นอยู่ในฮอลลี่วู๊ดด้วยซ้ำ แต่เล่ากันว่าชื่อ ฮอลลี่วู๊ด นี่ได้มาเพราะว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าวกลุ่มแรก เจอกับต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายกับต้นฮอลลี่ที่เขาชอบขึ้นอยู่มาก ก็เลยตั้งชื่อเมืองว่าฮอลลี่วู๊ด ทั้งที่จริงๆ แล้วต้นไม้ที่เขาเห็นนั้นจริงๆ แล้วเป็นต้นโตยอน (Toyon) ไม่ใช่ต้นฮอลลี่

เช่น เดียวกันกับคำว่า “ประจวบฯ เมือง 3 อ่าว” ที่มันเป็น Marketing Capaign ที่ไม่ได้ตรงกับสภาพภูมิศาสตร์ที่แท้จริง เพราะจริงๆ แล้วประจวบฯ เป็นเมือง 4 อ่าว ประกอบไปด้วย อ่าวมะนาว, อ่าวประจวบฯ, อ่าวน้อย, และอ่าวคั่นได (คั่นกระได)

โดยอ่าวมะนาวนั้นอยู่ในพื้นที่ของกองบิน 5, อ่าวประจวบฯ เคยมีชื่อว่า อ่าวเกาะหลัก ตามชื่อชุมชน, ส่วนอ่าวน้อย เป็นอ่าวเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างเขาตาม่องล่ายกับเขาคั่นกระได (เขาถ้ำพระนอน) เป็นที่ตั้งของสะพานปลาและชุมชนชาวประมง เป็นอ่าวที่สวยแต่เพราะว่าถูกใช้เพื่อจอดเรือประมงจึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวนอกพื้นที่นัก, และถัดไปเป็นอ่าวคั่นได ซึ่งนักท่องเที่ยวสับสนว่านี่คืออ่าวน้อย เพราะว่ามีวัดชื่อ “วัดอ่าวน้อย” ที่หันหน้าออกไปทางอ่าวคั่นได แต่ว่าด้านท้ายของวัดติดกับอ่าวน้อย

ป้าย “เมืองสามอ่าว” นี่เพิ่งถูกสร้างในปี 2562

ครั้นใครจะตัดอ่าวคั่นได ออกไปเพื่อให้เหลือแค่ 3 อ่าว ก็ยิ่งไม่เหมาะสม เพราะประวัติศาสตร์ของเมืองเริ่มที่นี่...

ตรงสวนสาธารณะติดกับสถานีรถไฟบ้านคั่นกะได มีต้นรัง (Shorea siamensis) ต้นไม่ใหญ่นักกำลังออกดอกสีแดงเหมือนดินลูกรัง ชื่อ “ดินลูกรัง” นี่ก็คงมาจากสีของดินที่เหมือนกับดอกของต้นรังนี่ และดินที่มีลักษณะหยาบเป็นเม็ดเล็กๆ

รังเป็นไม้ในวงศ์ (Family : Dipterocarpaceae ) เดียวกับยางนา(Dipterocarpus alatus) ลูกของต้นรังก็เหมือนกับยางนา คือเหมือนกับมีใบพัดติดอยู่ที่เมล็ดด้วย ช่วยให้เมล็ดที่แก่หลุดลอยไปกลับสายลมได้ไกลต้น แต่ว่าขนาดของลูกรังนั้นเล็กกว่าลูกยางนามาก

สมัยผู้เขียนเรียนมัธยมที่โรงเรียนประจวบวิทยา ในโรงเรียนมีสวนสาธารณะ มีชื่อเรียกว่าสวนฉัตรโมทยาน ในสวนนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่มาก ในสวนก็เลยร่มรื่น ค่อนข้างมืดด้วยซ้ำแม้ในเวลากลางวัน และก็ดูน่ากลัวเพราะว่าด้านตะวันตกก็ติดกับวัดเกาะหลักที่มองเห็นเจดีย์อยู่มากมาย ตรงกลางมีเก้าอี้ที่ก่อด้วยปูนทำเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางซักสิบเมตรอยู่ในสภาพที่เหมือนซากปรักพัง ด้านตะวันออกของสวนเป็นประตูทางออกของโรงเรียนที่เคยมีต้นรังต้นใหญ่ ใต้ต้นรังก็มีเก้าอี้ปูนก่อเป็นวงล้อมเอาไว้

ทุกวันเวลาหมดเวลาเรียนคาบสุดท้าย ผู้เขียนก็จะเดินมานั่งใต้ต้นรังนี้  ผู้เขียนมักจะเป็นคนแรกๆ ที่ออกจากโรงเรียนเสมอ รอให้ถึงเวลาที่โรงเรียนเปิดประตูให้นักเรียนกลับบ้าน

แถวต้นรังใหญ่ในโรงเรียนนี้ก็มีที่รถเข็นขายอาหารลูกชิ้นทอดมาวางขายทุกวัน ชีวิตการไปโรงเรียนน่าเบื่อแต่ว่าพอผ่านมาแล้วมันก็เป็นความทรงจำที่ไม่ลืม โดยเฉพาะวันหนึ่งไปนั่งใต้ต้นรังแล้วเห็นลูกรังเล็กๆ ที่หล่นลงมาเหมือนฝูงแมลงเพราะลมพัด  เอาจริงๆ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าต้นไม้ต้นนั้นเรียกว่าอะไร แต่เพราะลูกรังที่มีเอกลักษณ์จึงจำได้ไม่ลืม และก็พยายามเก็บเมล็ดจากรังต้นนั้นมาเพาะบ้าง แต่ว่าก็ไม่สำเร็จ และปัจจุบันรังต้นนั้นก็ยังอยู่ แต่ผ่านไปกี่ครั้งก็ไม่เคยเห็นมันออกดอกมาใช้ดู

หลายเดือนก่อนคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านพูดถึงชื่อ ”เมืองนารัง“ ซึ่งเป็นชื่อโบราณของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาจารย์ท่านสันนิษฐานว่า คำว่า “นารัง” นี่มาจากคำว่า “นาร้าง” อาจารย์อธิบายว่า เพราะว่าประจวบฯ เคยทำนา แต่ว่าสภาพแวดล้อมไม่อำนวย ขาดแคลนน้ำทำนา ที่นาก็เลยถูกปล่อยรกร้าง จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “นาร้าง” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า “นารัง” …. (คุณเห็นด้วยไหม ?)

ผู้เขียนไม่เห็นด้วย … ผู้เขียนกลับคิดว่า คำว่า “นารัง” มาจาก “ต้นรัง” นี่แหละ … นารัง น่าจะหมายถึงบริเวณที่มีต้นรังขึ้นอยู่มาก …. คนอ่านหลายคนอาจจะถึงสภาพต้นรังไม่ออก แต่ว่าก็ให้คิดถึงคำว่า “ป่าเต็งรัง” ที่เป็นสภาพป่าไม้ประเภทหนึ่งของไทย ซึ่ง ต้นเต็ง (Shorea obusa) ก็เป็นไม้ในวงศ์เดียวกับต้นรัง และต้นยางนา แต่ว่า ต้นเต็งออกดอกที่มีสีขาว ต้นรังมีดอกสีแดง

ลองไปดูชื่อชุมชนอื่นๆ ในประจวบ จะพบว่ามีชุมชนชื่อ หว้ากอ, หว้าโทน, นาสร้าง, หนองบัว, หนองกก, ต้นเกด, ดอนเหียง

จะเห็นว่าชุมชนต่างๆ ชองเมืองเป็นชื่อชองต้นไม้ใบหญ้า ต้นหว้า, ต้นไผ่ (นาสร้าง น่าจะมาจาก นาซาง เพราะมีต้นไผ่ขึ้นมากในพื้นทีปัจจุบัน), บัว, กก, ต้นเกด (ต้นไม้ประจำจังหวัด),

โดยเฉพาะคำว่า ดอนเหียง คำว่า เหียง นี่ก็ต้นไม้วงศ์เดียวกับ ต้นรัง นี่แหละ … ที่สำคัญดอนเหียง ยังอยู่ติดกับบริเวณที่เป็นที่ตั้งของเมืองนารัง ทำให้น่าเชื่อว่า นารัง เดิมเป็นพื้นที่ๆ มีต้นรังขึ้นอยู่มาก

หนังสือ สภาพและความเป็นอยู่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย กรมโฆษณาการ พ.ศ. 2493 เล่าเอาไว้ว่าเมืองนารังมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟขั้นกระได ก่อนที่จะเลิกร้างไป และมีการตั้งใหม่ในรัชกาลที่ 2 โดยย้ายมาอยู่ที่ปากคลองอีรม เรียกว่าเมืองบางนางรม


เมื่อปี 2415-2430 สยามได้ทำสงครามปราบจีนฮ่อ ที่เข้ามาก่อความวุ่นวายทางเหนือของสยามบริเวณแคว้นสิบสองจุไท (ดินแดนของสยามในเวลานั้น) ฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นได้เข้ามายึดเวียดนามเอาไว้แล้ว จึงได้อาศัยโอกาสนี้ส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ด้วย โดยอ้างว่าดินแดนดังกล่าวก็เคยเป็นของเวียดนาม จึงเกิดปัญหาเรื่องดินแดน

ในปี 2430  สยามส่งคณะข้าหลวงไปยังเวียดนามเพื่อทำข้อตกลงปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศส โดยได้เกิดข้อตกลงชั่วคราวเมืองแถง (เมืองเดียนเบียนฟู) และสยามก็เสียแคว้นสิบสองจุไทยไป

คณะข้าหลวงฝ่ายสยาม นำโดย

พระไพรัชพากย์ภักดี (ทวน บุนนาค) เจ้ากระทรวงต่างประเทศเป็นหัวหน้า

หลวงคำนวณคัดนาต์ (ศรี ปายุนันท์) เจ้ากรมแผนที่

นายบรรหารภูมิสถตย์ (เผื่อน) กรมแผนที่

ขุนปราบชลไชย (ชุน) ล่าม

และนายแวว เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศทำหน้าที่บันทึกจดหมายเหตุ ซึ่งการไปทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสนี้ใช้เวลาราว 6 เดือน

และเมื่อกลับมายังสยาม นายแวว ได้บันทึกจดหมายเหตุเอาไว้เป็นนิราศ ชื่อ นิราศตังเกี๋ย และนำขึ้นถวายกระพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรางต่างประเทศ

นายแวว ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนรเนติบัญชากิจ และเป็นต้นตระกูล "แววศร"

นิราศตังเกี๋ยนี้ มีตอนหนึ่งที่บันทึกเกี่ยวกับจังหวัดประจวบฯ เอาไว้ว่า


เกาะที่ฉันพรรณามาทั้งหลาย

มีนิยายเรื่องโตไม่โกหก

จะว่าไปไหลเล่อเหนือนเพ้อพก

จึ่งหยิบยกเอาแต่เกาะจำเพาะการ

ถึงอย่างนั้นท่านทั้งหลายมีชายหญิง

จะค้อนติงตัดพ้อข้อบรรหาร

พอเปนเลาเอาเปนหลักสักนิทาน

ว่านมนานแต่ครั้งไหนตามใจกลอน

ตาบ้องไล่ยายรำพึงซึ่งมีบุตร

บริสุทธิ์งามพริ้งยิ่งสมร

เรียกนางโดยได้ชื่อฦๅขจร

ถึงนครกรุงจีนแสนยินดี

ให้ไทยจือมาขอต่อตาบ้อง

แก่ยกย่องให้เปนพระมเหษี

จึ่งเตรียมขันหมากมาจากธานี

ถึงวันดีจะสมานการมงคล

ฝ่ายเจ้าลายชายข้างตวันตก

ก็เพ้อพกรักรุ่มทุกขุมขน

ขอนางโดยต่อยายแม่พอแก้จน

แก่ยกตนบุตรสาวให้เจ้าลาย

แห่ขันหมากมากระไรดูไม่น้อย

ถึงสามร้อยสิ่งของกองถวาย

เขยทั้งสองพ้องกันเข้าทั้งบ่าวนาย

ก็นัดหมายขอให้ส่งองค์บุตรี

แต่ตายายไม่รู้กันช่างขันนัก

ทำงกงักอิ่มเอมเกษมศรี

ไม่ไต่ถาม เหตุผลต้นคดี

เพราะอยากมีลูกเขยไว้เชยชม

ก็ต่างคนต่างกริ่มขยิ่มเหงือก

ไม่ต้องเลือกให้ลำบากยากขนม

เขาเปนเชื้อธิบดีบุรีรมย์

เกิดนิยมเห็นงามไม่ถามกัน

ตาบ้องไล่จะส่งกับองค์เจ๊ก

หางเปียเล็กรวยอู๋กินหมูหัน

ยายรำพึงก็จะให้เจ้าลายพลัน

จำเพาะวันเดียวพ้องถึงสองคน

ไม่ตกลงงงอยู่จึ่งรู้เรื่อง

ตาก็เคืองยายก็แค้นกว่าแสนหน

ต้องค้างค้านการวิวาห์เข้าตาจน

ลงนั่งบ่นพึมพำกรรมของกู

ฝ่ายเจ้าจีนเจ้าลายโดนรายนึก

พอรู้สึกกำสรดแสนอดสู

เมื่อดักลันปลาไหลมาได้งู

มีศัตรูเพราะผู้หญิงต้องชิงนาง

ก็ต่างคนต่างเหี้ยมเตรียมทหาร

จะรบราญเจ้าบุรีที่มีหาง

ตาบ้องไล่ให้ขยั้นเข้ากั้นกลาง

พูดเปนกลางว่าอย่าแย่งจะแบ่งปัน

ฉวยลูกสาวฉีกกลางขว้างให้เขย

มันตกเลยอยู่เปนเกาะจำเพาะขัน

เรียกว่าเกาะนมสาวเท่าทุกวัน

อยู่ฟากจันทบุรีมีพยาน

อีกซีกหนึ่งไปถึงตวันตก

อดห่อหมกบ่าวสาวทั้งคาวหวาน

เจ้าลายเห็นศพโศกโรคบันดาล

ไม่กลับบ้านเลยตายในสายชล

เดียวนี้ยังเปนเขานอนยาวเหยียด

ไม่น่าเกลียดเหมือนมนุษย์สุดฉงน

โต๊ะฝาชีพานกระจับกลับวิกล

ตั้งอยู่จนทุกวันไม่อันตราย

เขาเรียกสามร้อยยอดตลอดหมด

ฉันไม่ปดพูดเพ้อละเมอหมาย

แต่ทองมั่นนั้นถมลงจมทราย

ตกอยู่ฝ่ายนครังบางตพาน

เปนกำเนิดเกิดประจำธรรมชาติ

สุกสอาดสืบมาอาวสาน

เปนทองของเจ้าลายที่วายปราณ

อยู่นมนานตั้งกัปไม่นับปี

ฝ่ายเจ้าจีนสิ้นอาไลยก็ให้โหย

เห็นนางโดยซีกเดียวเขียวเปนผี

ก็ทำศพกว่าจะเสร็จเจ็ดราตรี

กับสิ่งที่เปนขันหมากไม่อยากเอา

ทั้งโรงโขนโรงหนังคลังใส่ของ

ก็เลยกองอยู่เหมาะเปนเกาะเขา

สารพัดสัตว์สิงห์กลิ้งเปนเลา

เรื่องตาเถ้าบ้องไล่ยายรำพึง

แสนสงสารเจ้าจีนแผ่นดินเผง

ถอดกางเกงค้างเปล่าเข้าไม่ถึง

ต้องกลับไปภาราทำหน้าตึง

สิ้นความหึงหม้ายหอเพราะพ่อตา




อ่าน นิราศตังเกี๋ย แล้วก็ชวนให้สงสัยอีก เพราะว่า นิทานตาม่องล่าย นั้นได้ยินมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ว่าใน นิราศ กลับเรียกชื่อ “ม่องล่าย” เป็น “บ้องไล่” ก็สงสัยมาทันทีว่าจริงๆ แล้วคุณตาชื่ออะไรนะ … 🍃

Yandex.Metrica