สิงหาคม 18, 2022

เกด ...

เกด ...

วันนี้ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรสุริยุปราคาเด็มดวง ที่บ้านหว้ากอ ต”คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยพระองค์ได้คำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งการเกิดสุริยุปราคา ตรงกับวัน อังคาร ที่ 18 สิงหาคม 2411 เวลา 11.36.20 น.

แต่หลังจากเสด็จกลับจากบ้านหว้ากอ ก็ทรงพระประชวรด้วยโรคมาลาเรีย และสวรรคตในอีกหกสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 1 ตุลาคม 2411

ในปี 2525 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

` น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


….

อันที่จริง สวนของผู้เขียนอยู่ไม่ไกลจากบ้านหว้ากอนัก เพียงแค่ 1-2 กิโลเมตรก็ถึง หมู่บ้านในบริเวณหลายหมู่บ้านเป็นชื่อของต้นไม้ อย่าง บ้านหว้ากอ บ้านหว้าโทน ก็หมายถึงต้นหว้า ในขณะที่ห่างออกไปหน่อย บ้านวังมะเดื่อ คือ ต้นมะเดื่อ บ้านห้วยยาง คือ ต้นยาง และบ้านต้นเกด ซึ่งความหมายตรงเลย คือ ต้นเกด

หมู่บ้านหลายหมู่บ้านถูกตั้งชื่อตามต้นไม้ในท้องถิ่น แม้นว่าสภาพในปัจจุบันแล้วนั้นการมองหาต้นไม้ที่เป็นที่บอกที่มาที่ไปของหมู่บ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ต้นไม้ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจก็ถูกโค่นทำลายหมด ตัวเมืองประจวบมองไปทางไหนก็เห็นแต่มะพร้าว สับปะรด อากาศตอนกลางวันก็ร้อนระอุมาก ขาดต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา เมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ก็มีไร่อ้อย และไร่เปล้าน้อย อยู่เยอะ แต่ว่าพืชสองชนิดหลังนี่หายไปจากพืชที่แล้ว เพราะโรงงานปิดตัวไป

วันนี้อยากจะเล่าถึงต้นเกด (Manilkara hexandra)  ซึ่งถือต้นไม้ประจำจังหวัดประจวบด้วย เพราะว่าวันนี้ไปเดินซื้อของที่ตลาดโต้รุ่ง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบแล้ว เห็นว่ามีต้นเกดถูกปลูกเอาไว้เป็น 4-5 ต้น  แต่ละต้นสูงเกือบสิบเมตร แม้ว่าลำต้นจะยังไม่ใหญ่นัก แถมรอบๆ ยังถูกร้านค้าบดบังจากสายตา


ต้นเกดที่หน้าอำเภอมีป้ายเขียนบอกชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นต้นเกด แต่ที่ไม่ปกติก็คือชื่อภาษาอังกฤษ เขียนบอกไว้ว่า “Mitkey tree” อันนี้ไปลองกูเกิ้ลดูแล้ว คำว่า Mitkey tree จะไม่มีวันเจอกับต้นเกดเลย ก็เลยคาดว่าคนเขียนป้ายน่าจะเข้าใจอะไรผิด

แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง คือ ป้ายอยากจะเขียนคำว่า “Milky tree” ซึ่งไม่ใช่ชื่อภาษาอังกฤษ แต่ว่าเป็นความหมายหนึ่งของต้นเกด

เกด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara hexandra ส่วนชื่อภาษาอังกฤษแบบกระชับ เรียกง่ายกระชับนั้นไม่มี แต่คำที่เหมาะและน่าจะถูกยอมรับที่สุด คือ Khirni ซึ่งเป็นชื่อของต้นเกดที่ชาวอินเดีย ทางตะวันออก อย่างรัฐพิหารเรียกต้นเกด

คำว่า Khirni มาจากคำว่า Khshir ในภาษาสันสฤต ซึ่งแปลว่า น้ำนม ซึ่งในภาษาทมิฬที่ใช้กันในอินเดียตอนใต้และศรีลังกา ก็เรียกราชายตนะ ว่า Palai palam (பாலை மரம்)) ที่แปลว่าต้นน้ำนม เช่นกัน

เกด ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราชายตนะ (Rajayatana) ซึ่ง yatana แปลว่า ประสาทสัมผัส ... ราชายตนะ จึงแปลว่า ราชาแห่งรส เกดออกดอกในเดือนกันยายนถึงธันวาคม และมีผลในเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับมะม่วงเลยผลของเกดเมื่อมีผลสีส้ม และมีรสหวานจึงถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนน้ำน้ม

ในตำราอายุรเวช(Ayurveda) บอกว่าราชายตนะ เป็นผลไม้ที่ใช้ปรุงเป็นโอสภสำหรับเทพเจ้าและพระมหากษัตริย์ มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า rajphal, rajdan (ที่แปลว่า อัศวินผู้คุ้มครองปกป้องพระราชา) นอกจากนั้น ราชายตนะยังเป็นส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงน้ำอมฤต (Amrita) ด้วย

ในอินเดียยังมีการใช้ต้นเกดในการเป็นต้นตอสำหรับติดตาละมุด เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้รสชาดของละมุดนั้นดีขึ้น

... ที่สวนของผู้เขียนมีต้นเกดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ว่าต้นไม่ใหญ่นัก ต้นที่สูงที่สุดอยู่ตรงประตูทางเข้าสวน สูง 5-6 เมตร ถ้าไม่สังเกตุก็จะมองไม่เห็นเพราะว่าขึ้นอยู่ใกล้ๆ กับต้นไม้ชนิดอื่น อย่างหว้า มะม่วง มะกูด ตะแบก และยังมีพุทธรักษาบังไว้อีกทีหนึ่ง

ในเมืองประจวบฯ ต้นเกดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นอยู่ตรงข้ามป้ายชื่อของโรงเรียนอนุบาลประจวบฯ เป็นสองต้นขึ้นคู่กัน แต่ละต้นขนาดเท่ากับคนโอบได้แล้ว แต่ว่าต้นเกดอยู่ในบริเวณของถนน ที่ใช้เป็นที่จอดรถ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะถูกตัดทิ้งสักวัน ... 🍃

Yandex.Metrica