สิงหาคม 7, 2022

มะพร้าว … ปีศาจและทวยเทพ

มะพร้าว … ปีศาจและทวยเทพ

ตอนอยู่ประถม บ่ายวันหนึ่งนอนดูทีวีอยู่ที่บ้าน จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นดูหนังเรื่องอะไรอยู่ แต่ว่ามันเป็นฉากที่มีแม่มดขี่ไม้กวาดพอดีเลย พอดูถึงตอนนั้นพ่อก็เรียก และชวนเข้าสวนกันพร้อมกับพี่ชายอีกสองคน

สวนของเราห่างจากบ้านมาเกือบสิบกิโล ตอนนั้นในพื้นที่สวนเป็นทุ่งโล่งๆ ด้านหน้ากับด้านหลัง ส่วนตรงกลางก็ปลูกมะพร้าว

ที่บ้านเรามีรถโฟล์คเต่า สีฟ้าเก่าๆ กันหนึ่ง  พ่อก็พาพวกเราใส่รถไปสวน ตอนนั้นในสวนของเรายังมีลุงคนหนึ่งกับครอบครัวของแกอาศัยอยู่ พวกเขามีอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าว แกสร้างโรงเคี่ยวน้ำตาลไว้หลังหนึ่งกลางสวน ซึ่งหลังคามุงใบจาก ไม่มีผนัง ข้างในก็จะมีเตาเคี่ยวน้ำตาลอยู่หนึ่งเตา แต่ว่ามีช่องสำหรับวางกระทะใบใหญ่สำหรับเคี่ยวน้ำตาลได้สองใบ

การทำน้ำตาลมะพร้าวก็ดูไม่ยุ่งยากอะไร แค่เอาน้ำหวานจากต้นมะพร้าวมาเคี่ยวให้แห้ง แต่จริงๆ แล้วเหนื่อยและใช้เวลามากเลย เริ่มจากชาวสวนต้องปีนขึ้นต้นมะพร้าว โดยอาจจะใช้พะอง (ไม้ไผ่ที่ตัดกิ่งแขนงออกแต่ว่ายังเหลือโคนเอาไว้ ให้เป็นเหมือนบันไดเอาไว้เหยียบเวลานำพะองไปพาดกับต้นมะพร้าว) แต่อย่างที่สวนนี่ ถ้าต้นมะพร้าวไม่สูงก็จะใช้วิธีการสับที่ลำต้นให้เป็นร่องสำหรับเหยียบขึ้นต้นมะพร้าวเลย แต่ว่าถ้ามะพร้าวสูงก็จะใช้พะอง

เมื่อปีนถึงยอด ก็เอาเชือกไปเกี่ยวงวงมะพร้าว (ดอกของมะพร้าวที่แทงออกมาจากต้น) ให้โน้มลงมา เพราะปกติงวงมะพร้าวจะแทงตั้งขึ้นฟ้า ถ้าโน้มงวงมะพร้าวลงมาได้แล้วก็จะปาดปลายงวงมะพร้าว จนมีน้ำหวานไหลออกมา ก็จะเอากระบอกไม้ไผ่ไปรองรับน้ำหวานของมะพร้าวที่ออกมา ซึ่งวันหนึ่งมักจะทำสองครั้งในเวลาเช้า และเวลาบ่าย   เมื่อได้น้ำหวานจากมะพร้าวแล้วจึงนำมาเคี่ยวให้เป็นน้ำตาล โดยตอนเคี่ยวต้องใช้ไม้กระทุ้ง ซึ่งเป็นไม้ที่มีขวดลวดตรงปลาย คล้ายกับไม้ตีไข่แต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่า การใช้ไม้กระทุ้งจะช่วยให้น้ำตาลแห้งได้เร็วขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำหวานจากมะพร้าวต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ ประมาณ 8 ต่อ 1 ... พอน้ำตาลเคี่ยวได้ที ก็ตักขึ้นมาพึ่งลมจนเย็น มันก็กลายเป็นก้อน สมัยนั้นในสวนไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ น้ำตาลก็จะออกมาเป็นก้อนที่ไม่ค่อยเท่ากัน แต่ก็เป็นก้อนโค้งๆ ตามลักษณะของกระบวยที่ใช้ตัก

เป็นเด็กก็ได้แต่ยืนมองเขาทำน้ำตาล แล้วก็ลองหยิบน้ำตาลสดที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่มาลองกิน ก็ไม่รู้สึกว่ามันอร่อยตรงไหนนะ กินยากอีกต่างหาก เพราะมีทั้งตัวผึ้งและเศษดอกมะพร้าว

พวกเราเป็นเด็กเรากินของหวานแล้วก็มีแรงออกวิ่ง ตอนนั้นเด็กๆ คิดว่าตัวเองมีวิทยายุทธกันทุกคน เพราะเราต่างก็เรียนวิชาตัวเบาและสังกัดสำนักใดสำนักหนึ่ง ไม่ว่าจะ บู๊ติ๊ง เสาหลิน คุนหลุน เพระหนังจีนกี่เรื่องเวลานั้นก็ดูกันหมด การปีนต้นไม้ไปเก็บเอาผลไม้จากบนต้น ก็ไม่ต่างกับการไปเก็บท้อบนสวรรค์ หรือบัวหิมะจากเขาเทียนซาน

วันนั้นพวกเราก็ไม่พลาดที่จะปีนขึ้นต้นมะพร้าวกัน เพราะเห็นว่ามันมีพะองพาดอยู่กับต้นมะพร้าว  ผมก็เลยได้มีโอกาสเห็นงวงมะพร้าวกับกระบอกน้ำตาลที่อยู่บนยอดมะพร้าวเป็นครั้งแรก

แต่ว่าขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดมะพร้าวอยู่ได้ไม่นาน อยู่ๆ ทางมะพร้าวที่ผมนั่งอยู่มันก็หลุดจากคอมะพร้าว ผมก็เลยร่วงลงมาพร้อมทางมะพร้าว เหมือนได้นั่งทางมะพร้าวลงมาคล้ายกับแม่มดขี่ไม้กวาดที่เพิ่งดูในวันนั้น เสียแต่ว่าตกลงมาเสียงดัง “ตุ๊บ” แต่ว่าร้องไม่ออกสักคำหนึ่ง เพราะว่ามันจุ๊กจนร้องไม่ออก แต่พี่ชายลงมาแล้วก็วิ่งไปตามพ่อให้มาช่วย

วันนั้นผมก็เลยถูกอุ้มใส่รถโฟล์คกลับบ้าน แต่ว่าไม่ได้บาดเจ็บอะไร นอนสักพักก็หาย ไม่ต้องไปหาหมอ

... มะพร้าวเคยถูกชาวยุโรปถูกเรียกว่า “Nux indica” (Indian nut, ถั่วอินเดีย) ตามชื่อที่มาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทาวชาวเวนิส เป็นคนตั้ง ซึ่งว่ากันว่ามาร์โค โปโล ได้พบกับมะพร้าวครั้งแรกตอนที่เขาเดินทางมาถึงบริเวณเกาะสุมาตราในปี 1280

ทางเหนือของโปตุเกส และกาลิเซีย (สเปน) มีนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อกันถึง ปีศาจตนหนึ่งชื่อ เอล โคโค่ (el Coco) ซึ่งปีศาจตนนี้จะมายืนอยู่บนหลังคาบ้าน และจะเลือกจับเด็กที่ดื้อไปกินเป็นอาหาร เรื่องของโคโค่ กลายเป็นนิทานที่ผู้ใหญ่ใช้เล่าเพื่อขู่เด็กๆ ที่ดื้อไม่เชื่อฟัง ทำนองเดียวกับที่คนไทยขู่เด็กๆ ว่าตุ๊กแกจะมากินตับ

นิทานเรื่องโคโค่ถูกเล่าต่อกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยบันทีกเก่าแก่ที่มีบันทึกเอาไว้ อยู่ในหนังสือ Auto de los desposorios de la Virgen เขียนโดย ณวณ คาเซส (Juan Caxes)

และต่อมาภายหลังจากนิทานได้กลายมาเป็นเพลงกล่อมเด็ก ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกับนิทาน เช่น

เนื้อเพลงกล่อมเด็กชื่อ  VAI-TE EMBORA Ó PAPÃO ในภาษาโปตุเกส ร้องว่า

Vai-te embora, ó papão จงออกไป, เจ้าปีศาจร้าย
de cima desse telhado จงไปอยู่บนหลังคาบ้านโน้น
deixa dormir o menino จงปล่อยให้เด็กน้อยได้หลับไหล
um soninho descansado ปล่อยให้เด็กน้อยหลับอย่างมีความสุข

คำว่า “Coco” หรือ Cuca, Cuco ในภาษาโปตุเกสและสเปน นั้นมีความหมายเดียวกับคือหมายถึง ศรีษะ, กระโหลก

คำว่า “Coconut” ที่แปลว่า มะพร้าว เกิดจากการเดินทางทะเลของวาสโก ดา กาม่า (Vasco da Gama, 1460s- 1524) นักเดินเรือชาวโปตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่สามารถเดินทางไปยังอินเดียโดยใช้เส้นทางทางทะเลได้สำเร็จ  วาสโก ดา กาม่า ได้พบกับมะพร้าวครั้งแรกบริเวณหมูเกาะโพลีนีเซีย (Polynesia) ในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงได้ตั้งชื่อผลไม้ชนิดนี้ว่า “Coconut” ตามชื่อปีศาจในนิทาน เพราะผลของมะพร้าวที่คล้ายกระโหลก

ชาวฮินดู นั้นถือว่ามะพร้าวเป็นผลไม้ที่ศักดิ์สิทธิ และมักถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เพราะเชื่อกันว่าเมื่อพระวิษณุ (Lord Vishnu) ได้อวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์ได้ลงมาพร้อมกับพระลักษมี (Lakshmi), มะพร้าวและ กามาเทนู (Kamadhenu) ซึ่งเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ ต้นกำเนิดของวัวทั้งมวล

รูปปั้นของพระลักษมีส่วนใหญ่พระนางจะมีสี่กร ประทับนั่งบนบัลลังค์ดอกบัว มือข้างขวาถือดอกบัว และมือซ้ายจะถือเหยือกน้ำซึ่งทำจากมะพร้าว

ยังมีเรื่องเล่ากันอีกว่า ครั้งหนึ่งกษัตริย์ ตรีชานกุ (Trishanku) ต้องการที่จะเดินทางไปยังสวรรค์ แต่ว่าการเดินทางไปยังสวรรค์ด้วยกายเนื้อนั้น เป็นการผิดกฏสวรรค์  กษัตริย์ตรีชานกุ จึงได้เดินทางไปขอร้องให้ฤษีวิศวามิตร (Viswamitra) ใช้ญาณวิเศษในการส่งพระองค์ไปยังสวรรค์ ซึ่งฤษีวิศวามิตรได้ยอมทำตาม

แต่ว่าระหว่างที่ฤษีวิศวามิตรกำลังส่งให้กษัตริย์ตรีชานกุลอยไปยังสวรรค์นั้น พระอินทร์ (Indra) เห็นเข้าก็ทรงพิโรธ เพราะว่าการเข้าสู่สวรรค์ด้วยกายเนื้อนั้นผิดกฏ พระอินทร์จึงทรงใช้พลังพลักให้กษัตริย์ตรีชานกุร่วงลงมา

แต่ว่าระหว่างที่กษัตริย์ตรีชานกุกำลังตกลงมานั้น ฤษีวิศวามิตรก็ใช้พลังของเขาหยุดให้กษัตริย์ตรีชานกุลอยอยู่ในอากาศระหว่างโลกและสวรรค์ และเมื่อฤษีวิศวามิตรได้คุยกับพระอินทร์แล้ว ก็ยอมเข้าใจกฏสวรรค์แต่โดยดี

แต่เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับกษัตริย์ตรีชานกุ ฤษีวิศวามิตรจึงได้เสกไม้เท้าไปค้ำกษัตริย์ตรีชานกุที่ลอยอยู่ในอากาศ  และไม้เท้าที่ค้ำนี่เองได้กลายมาเป็นต้นมะพร้าว


กลับมาที่เรื่องทางวิชาการกันหน่อย... อันคำว่า Coconut ยังไม่ใช่เฉพาะ Coco แต่ที่ว่า หัวกระโหลก เท่านั้น แต่คำว่า “nut” ก็ยังไม่ใช่ “nut” อีกด้วย เพราะทางพฤษศาสตร์แล้ว ลูกมะพร้าว จัดเป็น “Drupe” ไม่ใช่ “nut”

Drupe หมายถึงผลไม้ที่มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม ห่อหุ้มเมล็ดเดี่ยวที่แข็งไว้ภายใน ขณะที่ Nut จะหมายถึงผลที่มีเปลือกแข็งห่อหุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน และจะไม่แตกออกเองเพื่อปล่อยเมล็ดภายในออกมา

เชื่อกันว่ามะพร้าวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ฟอสซิลของมะพร้าวซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลก ถูกค้นพบบนเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ มีอายุกว่า 15 ล้านปี

ชาวมาเลย์ให้ฉายามะพร้าวว่า “pokok seribu guna” ซึ่งแปลว่า ต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์พันอย่าง (tree of a thousand uses) .... คุณเห็นด้วยไหม ? 🥥

Yandex.Metrica