มีนาคม 18, 2023

…ใต้ต้นมะหวด

…ใต้ต้นมะหวด


เช้าวันนี้ (18 มี.ค. 66) ออกมาตัดหญ้าแล้วก็ปลูกมะพร้าวไปสี่กห้าลูกใกล้ๆ กับต้นมะหวดที่กำลังออกดอก ดอกของมะหวดนี่ดูคล้ายกับรวงข้าว แต่ว่าช่อดอกมันชี้ไปคนละทิศคนละทาง ในสวนนี่มีต้นมะะหวดอยู่กอเดียว มันต้นดังเดิมที่เห็นมาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ว่าก็แทบจะไม่ใหญ่ขึ้นเลย แม่บอกว่าที่ทางบ้านแม่ที่ท่าชนะ เรียกมะหวดว่า “ลูกซำ” ส่วนฝรั่งเรียก ถั่วพระจันทร์ (Luna nut) หรือ Leenh (Lepisanthes rubiginosa )

พูดถึงมะหวดสมัยเด็กๆ แถวบ้านป้าซึ่งเราเรียกแกว่าป้าบุญ สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนประถม เวลาที่โรงเรียนเลิก พ่อมักจะเป็นคนที่ไปรับผมกับพี่กลับจากโรงเรียน ส่วนใหญ่แล้วพ่อจะรับช้านะ เด็กคนอื่นๆ กลับไปเกือบจะหมดแล้ว ผมถึงจะได้กลับบ้าน

แต่ว่าวันไหนถ้าพ่อไปรับเร็ว พ่อมักจะพาไปหาอะไรกินกันก่อนที่จะกลับเข้าบ้าน และร้านหนึ่งที่พ่อชอบพาไปกิน ก็เป็นร้านข้าวแช่ ซึ่งสมัยนั้นอยู่ตรงมุมหนึ่งของสี่แยก ฝั่งตรงข้ามเป็นโรงเรียนประจวบวิทยาลัย อีกด้านหนึ่งก็เป็นวัดเกาะหลัก

ยายคนที่ขายข้าวแช่ แกชื่อยายสอย รูปร่างของยายออกจากอ้วน แกสวมเสื้อคอกระเช้า ใส่ผ้าถุง แล้วก็สวมงอบด้วย จะนั่งขายข้าวแช่อยู่ใต้ต้นมะหวดต้นใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมะหวดต้นนี้ถูกตัดไปแล้ว ต้นมะหวดนี้อยู่บริเวณที่ดินของป้าบุญ ซึ่งเมื่อก่อนมีบ้านไม้หลังใหญ่อยู่กลางๆ ที่ ซึ่งป้าบุญแกเปิดเป็นหอพักให้นักเรียนหญิงมาเช่า รอบๆ บ้านก็จะเป็นสวน และบริเวณมุมตรงแยก ร.ร. กับวัดก็จะมีมะหวดต้นใหญ่นี้ขึ้นอยู่ สมัยนี้จะไปหามะหวดต้นขนาดนั้นที่ไหนได้ก็ไม่รู้ ขนาดในสวนของผมซึ่งมีมะหวดอายุหลายสิบปีอยู่ ก็ไม่ใหญ่เท่าต้นที่ยายสอยนั่งขายข้าวแช่

ร้านข้าวแช่ของยายสอยก็เหมือนแคร่ที่ทำข้างๆ ต้นมะหวด น้ำลอยดอกมะลิถูกใส่ไว้ในหม้อดินที่ไม่เคลือบทำให้เห็นสีส้มของดินเผา มีกระบวยอันหนึ่งทำจากไม้และกะลามะพร้าวสำหรับตักน้ำอยู่ด้วย ส่วนฝาปิดด้วยฝาที่ทำจากไม้ ตัดเป็นวงกลมให้พอดีกับหม้อดินเผา ส่วนของข้าวที่ขัดจนขาว ที่ขัดจนร่วน ก็ใส่ไว้ในห่อผ้าขาวบางที่วางอยู่ในตะกร้าไม้ไผ่ ในตะกร้าก็ยังมีถุงพลาสติกใบไม่ใหญ่นักที่ยายสอยเอาลูกกะปิใส่และวางเอาไว้

ข้าวแช่ของยายสอย สมัยผมเด็กๆ น้ัน ราคาชุดละ 5 บาท ถ้านั่งกินที่ร้านใต้ต้นมะหวด แกก็จะตัดข้าวใส่ถ้วยกระเบื้องใบเล็กๆ ให้ แล้วก็ให้ช้อนเหล็กทองเหลืองอันไม่ใหญ่นัก แต่ว่าก้นจะเป็นทรงแหลมมาอันหนึ่ง  แต่สมมุติว่าเราต้องการเพิ่มข้าวอย่างเดียว ก็ราคา 2 บาท ส่วนกับอย่างเดียวนั้นราคา 3 บาท จนพวกเราท่องจำได้ขึ้นใจว่า “ข้าว 2 กับ 3”  ส่วนใหญ่ถ้าไปซื้อผมก็จะเน้นปลาหวานกับลูกกะปิ เพราะไม่ชอบหินหัวไชเท้าหวานเท่าไหร่า

ส่วนปลาหวาน หัวไชเท้าหวาน และลูกกะปิก็จะใส่ถ้วยที่ทรงเหมือนกับพานใบเล็กๆ ที่เป็นเบญจรงค์สีน้ำเงินขาวมาให้ส่วนปลาหวาน กับหัวไชเท้าหวาน นั้นแกใส่หม้อเหล็ก ข้างนอกเป็นสี่น้ำเงิน แต่ข้างในทาสีขาว

จำได้ว่าตอนไปนั่งกินข้าวแช่ ผู้เขียนก็ถามว่าปลาหวานนี่ทำมาจากอะไร พ่อก็อธิบายว่าเป็นปลากระเบน (ปลายี่สุ่น) ซึ่งยายสอยก็พยักหน้าเหมือนตอบรับว่าใช่

ซึ่งการใช้ปลากระเบนทำปลาหวานสำหรับข้าวแช่นั้นเป็นตำหรับดังเดิม แต่สมัยนี้โดยเฉพาะเมืองที่ห่างทะเล อาจจะใช้ปลาช่อนหรือปลาชนิดอื่นตามแต่จะหาได้มาทำปลาหวานแทน

ข้าวแช่ร้านของยายสอยนี่อร่อย จนบอกได้ว่าชีวิตนี้ยังไม่เคยกินข้าวแช่ที่ไหนอร่อยเท่าที่ยายสอยทำ โดยเฉพาะปลาหวานกับลูกกะปิของแกนั้น เรียกว่าไร้เทียมทาน ขนาดที่ว่าแม้ว่ายายสอยจะเสียไปนานแล้ว และลูกสาวของแกชื่อม่วยมาสืบทอดกิจการ ลูกสาวก็ยังทำได้ไม่อร่อยเท่าที่ยายสอยทำ แต่ปัจจุบันนี้แม้แต่ร้านของลูกสาวยายสอยก็ไม่มีให้กินแล้ว หลักจากยายสอยตาย เจ้ม่วยย้ายร้านจากต้นมะหวดไปขายอยู่หน้าวัดเกาะหลัก อยู่หลายปี แต่ว่าสี่ห้าปีมาแล้วที่เจ้ม่วยเลิกขายไปเพราะสายตาไม่ดี และลูกหลานก็ไม่มีใครคิดจะทำต่อ

ในประจวบฯ ยังเหลือร้านข้าวแช่อยู่สองสามเจ้า ในช่วงฤดูร้อนแบบนี้ แต่ว่าก็ไม่มีร้านไหนที่อร่อยเท่าของยายสอย

ผู้เขียนก็ได้กินข้าวแช่ของเมืองเพชรบ่อยๆ  เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตำหรับของขนมหวาน เพราะเคยไปเรียนหนังสืออยู่แถวเพชรบุรีปีหนึ่ง แต่ว่าข้าวแช่ของเพชรบุรี รสแปลกประหลาดไปเลย มันไม่ถูกลิ้น บางร้านก็ทำให้ปลาหวานที่ควรหวานมีรสเค็มแทน บางร้านก็รมควันลูกกะปิเสียจนได้กลิ่นไหม้ บางร้านก็ใส่มะพร้าวคั่วในปลาหวานเยอะ จนคิดว่ากินมะพร้าวอยู่ไม่ได้กินปลา แต่ก็เข้าใจว่าคนเราชอบรสชาดไม่เหมือนกันนะเนอะ เราเคยกินแบบไหนมาก่อน ก็มักจะฝังใจกับรสชาดแบบนั้น ก็คงเหมือนกับที่ผู้เขียนเห็นต้นมะหวดแล้วก็คิดถึงข้าวแช่กระมัง …. 🍃

Yandex.Metrica